โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างข้าราชการและเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ของ วท.”
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐
วันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๖.๓๐ น.
ณ ศูนย์ฝึกอบรมและเรียนรู้ ชั้น ๖ และห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๘ อาคารพระจอมเกล้า สป.วท.
************
๑. หลักการและเหตุผล
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศปท.วท.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ และส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ของ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐ ขึ้น เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยยึดกรอบยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๖๐) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว และจะดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการฯ ในยุทธศาสตร์ที่ ๑ การปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริตเน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดบุคลากร ในการรักษาประโยชน์สาธารณะโดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.วท.) ส่วนบริหารงานบุคคล (สห.) และกลุ่มงานกฎหมาย (กก.) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างข้าราชการและเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ของ วท.” ประจำงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อปลูกฝังการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ดี ด้วยการเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมในการต่อต้านการทุจริต และส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อปลูกฝังการเป็นข้าราชการที่ดี ส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรม และประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของข้าราชการ ตามประมวลจริยธรรม/จรรยาข้าราชการ
๒.๒ เพื่อสร้างทัศนคติและค่านิยมในการต่อต้านการทุจริต
๒.๓ เพื่อปฏิบัติธรรมและน้อมนำธรรมปฏิบัติมาใช้ในการดำเนินชีวิต
๓. กลุ่มเป้าหมาย
ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สป.วท./สร.วท. และหน่วยงานในสังกัด วศ. และ ปส. ที่เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๑๒๐ คน
๔. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๔.๑ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เกิดจิตสำนึกในการเป็นข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของข้าราชการ และตามประมวลจริยธรรม/จรรยาข้าราชการ
๔.๒ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เกิดทัศนคติและค่านิยมในการต่อต้านการทุจริต
๔.๓ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ปฏิบัติธรรมและน้อมนำธรรมปฏิบัติมาใช้ในการดำเนินชีวิต
๕. การประเมินผล
๕.๑ ประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ คือ ร้อยละของผู้เข้าร่วมโครงการที่มีต่อการจัดโครงการในภาพรวม (เป้าหมายร้อยละ ๘๐)
๕.๒ ประเมินผลจากแบบสำรวจ โดยติดตามหลังจากการอบรมฯ ๑ เดือน คือ ร้อยละของบุคลากรที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการฯ มีทัศนคติและค่านิยมที่ดี ไม่ยอมรับการทุจริต (ร้อยละ ๗๐)